การแก้ไขปัญหาไฟป่า

ไฟป่า คือ เพลิงที่ไหม้อย่างเป็นอิสระในชนบทประเทศหรือถิ่นทุรกันดาร ไฟป่าต่างจากอัคคีภัยรูปแบบอื่น เพราะกินอาณาบริเวณกว้างขวาง, ลุกลามรวดเร็ว คาดเดายาก และบางครั้งสามารถไหม้ผ่านแม่น้ำ ถนน หรือแนวกันไฟได้ด้วย ไฟป่าเกิดได้ในทุกที่ ยกเว้นแอนตาร์กติกา ซากดึกดำบรรพ์และประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นเครื่องยืนยันความถี่ของไฟป่า และบ่งบอกว่า บางแห่งไฟป่าเกิดขึ้นมีกำหนดแน่นอน ไฟป่าอาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ แต่เป็นประโยชน์ต่อพืชพันธุ์บางชนิด เช่น เห็ดเผาะ ซึ่งเจริญดีด้วยไฟอย่างไรก็ตาม ไฟป่าขนาดใหญ่ย่อมยังผลร้ายสู่ระบบนิเวศถ่ายเดียว

ในแต่ละสมัย มีการคิดยุทธศาสตร์ป้องกันไฟป่ามากมาย แต่ผู้เชี่ยวชาญการควบคุมไฟป่าระหว่างประเทศกระตุ้นให้ช่วยกันพัฒนาและวิจัยมากกว่านี้ หนึ่งในเทคนิคการดับไฟป่าที่ถูกโต้แย้งมากที่สุด คือ การเผาคุม (controlled burn) หรือการยอมวางเพลิง เพื่อให้ไหม้ทำลายเชื้อเพลิงเสีย หรือที่เรียกกันว่าแนวกันไฟ อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า ไฟป่านั้นสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการการป้องกันอย่างเข้มงวด เพื่อให้ปัญหาไฟป่านั้นลดลงและไม่รุนแรง แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่า มีดังนี้

1.การรณรงค์ป้องกันไฟป่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ประชาชนจดไฟเผาป่าทั้งนี้อาจทำได้โดยการประชาสัมพันธ์ชี้แนะให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ความจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษา ตลอดจนผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากมีการบุกรุกทำลายหรือเผาป่า เพื่อให้ประชาชนเกิดทัศนคติที่ถูกต้อง เลิกจุดไฟเผาป่า และหันมาให้ความร่วมมือป้องกันไฟป่า การรณรงค์ป้องกันไฟป่าสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชน การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ การแจกจ่ายสิ่งตีพิมพ์และเอกสารเผยแพร่การจัดนิทรรศการ การให้การศึกษา การจัดฝึกอบรม ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านป่าไม้ เป็นต้น

2.การจัดการเชื้อเพลิง โดยการทำแนวกันไฟ และการกำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่ล่อแหลมต่อการเกิดไฟป่า เช่น มีวัชพืชหนาแน่น พื้นที่ป่าสองข้างถนน ซึ่งมีโอกาสเกิดไฟป่าได้ง่าย เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟป่าได้ง่าย เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟป่า หรือหากเกิดไฟป่าขึ้นก็จะมีความรุนแรงน้อย สามารถควบคุมง่าย   

นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีหน่วยงานที่ดูแลและควบคุมไฟป่าอยู่โดยตรงคือสถานีควบคุมไฟป่า เป็นหน่วยงานภาคสนามสังกัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สถานีควบคุมไฟป่านั้น มีไว้เพื่อ ควบคุม ดูแลและป้องกันไฟป่าในแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อย่างไรก็ตามทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องดูแลร่วมกัน ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นทุกคนควรจะมีจิตสำนึกในการดูแลและรักษาทรัพยากรเพื่อให้คงอยู่ได้นาน